วิถีชาติพันธุ์
นิทรรศการจัดแสดงวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในสังคมไทย ในนิทรรศการจำแนกเนื้อหาออกเป็น ๔ ส่วน ได้แก่
๑. ประวัติศาสตร์ การสถาปนา พัฒนาการพันธกิจเชิงวิชาการ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย กำเนิดจาก “โครงการศูนย์ศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ เมื่อปี พ.ศ.2517” โดยมีผู้ก่อตั้ง คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.คุณหญิงสุริยา รัตนกุล
สถาบันฯ ได้มีพันธกิจการทำงานและดำเนินการศึกษาวิจัยในขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย” ในปัจจุบัน
๒. จัดแสดงผลงานวิชาการภารกิจด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการสังคม ในด้านวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ การทำงานของศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต โครงการแผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย
สถาบันฯ ยังมีภารกิจสำคัญในการศึกษาวิจัยทางด้านภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อมุ่งบูรณาการความรู้และความเข้าใจอันดีระหว่างคนไทยและกลุ่มชาติพันธุ์ ลดช่องว่างของผู้คนที่มีวัฒนธรรมที่ต่างกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้ชีวิตอย่างสงบสุขและเสริมสร้างความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน สถาบันฯ มีผลงานวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธ์ งานวิจัยโลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย งานวิจัยเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ จีน และอินเดีย เช่น งานวิจัยโครงการเอเชียอาคเนย์ศึกษา การศึกษาวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ไทยในจีน และงานวิจัยเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมไทย ศึกษาความเป็นอยู่ การแพทย์พื้นบ้าน การดนตรี และการละเล่นพื้นบ้าน รวมทั้งการวิจัยทางด้านพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาวัฒนธรรมและวิธีวิทยาต่างๆ ทางด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษา นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการด้านบริการวิชาการแก่สังคม
การให้บริการและเผยแพร่เอกสาร ตำรา สื่อต่างๆ ทางด้านภาษาและวัฒนธรรม จัดการบรรยายทางวิชาการ การฝึกอบรม และการจัดสัมมนาความรู้ต่างๆ และจัดยังกิจกรรมทำนุบำรุง สืบสานศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และประเพณีไทย
๓. นิทรรศการหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์จำลอง ผ่านส่วนประกอบต่างๆ เช่น ทางเข้าหมู่บ้าน ใต้ถุนบ้าน พื้นที่ภายในบ้าน หลังบ้าน และลานบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่กิจกรรมในชีวิตประจำวันที่แสดงให้เห็นการดำเนินชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีทั้งความคล้ายคลึง ความแตกต่าง และเอกลักษณ์อันหลากหลายของผู้คนที่อยู่ร่วมกันในแผ่นดินไทย
๔. มุมกิจกรรมสำหรับเด็ก (kid’s corner) ประกอบด้วย การเล่นตุ๊กตากระดาษแต่งกายด้วยชุดชาติพันธุ์ การระบายสีชุดชาติพันธุ์ การวาดภาพ และการเขียนสิ่งต่างๆ ลงบนกระดาษเพื่อบอกเล่าประสบการณ์และแสดงความคิดเห็นที่มีต่อนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์